การจัดกิจกรรมการทำหนังสือเล่มใหญ่ (Big Book)
สำหรับเด็กปฐมวัย
ผู้แต่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี ไสยวรรณ
การจัดกิจกรรมการทำหนังสือเล่มใหญ่เกิดขึ้นจากแนวคิดการสอนมุ่งประสบการณ์ทางภาษามีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการใช้ภาษาของเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษา เริ่มทำการศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย ต่อมาในปีค.ศ.1984 ดร.ริชาร์ด วอล์คเคอร์ เบรนดอน บาร์ทเล็ทและ ดร.เสาวลักษณ์ รัตนวิชช์ ได้นำแนวคิดนี้มาเผยแพร่ในประเทศไทยโดยได้ทำการศึกษาวิจัยพบว่า ทำให้เด็กมีความมั่นใจในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร เด็กสามารถอ่านเรื่องและเข้าใจความหมายของภาษาได้ดี เด็กเรียนภาษาได้เร็วและมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษา ปัจจุบันได้มีนักการศึกษานำแนวคิดนี้ไปทำการวิจัยอย่างแพร่หลายเพื่อแก้ปัญหาการอ่านของเด็กหรือการพัฒนาการใช้ภาษาด้านการ ฟัง พูด อ่านและเขียน ในปี พ.ศ.2542 ผู้เขียนได้นำแนวคิดนี้ไปทดลองใช้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเกี่ยวกับการสอนภาษาแบบองค์รวมสำหรับเด็กปฐมวัยโดยจัดกิจกรรมให้เด็กปฐมวัยได้สร้างหนังสือเล่มใหญ่พบว่า สามารถพัฒนาการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของเด็กปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาในปี พ.ศ.2551 ชมพูนุท ศุภผลศิริได้ทำการวิจัยเรื่องการศึกษาความสามารถทางพหุปัญญาของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรม การทำหนังสือเล่มใหญ่ พบว่าเด็กปฐมวัยมีความสามารถทางพหุปัญญาสูงขึ้น
การจัดกิจกรรมการทำหนังสือเล่มใหญ่ (Big Book) หมายถึงการจัดสภาพการณ์ให้เด็กเรียนรู้การสื่อสารซึ่งกันและกันอย่างมีปฏิสัมพันธ์และมีความหมายด้วยการสร้างหนังสือเล่มใหญ่ สร้างบรรยากาศการเรียนรู้การอ่านจากผลงานการเขียน เรียนรู้การเขียนจากการอ่าน เรียนรู้ภาษาจากวรรณกรรมและการเลียนแบบ กระตุ้นให้เด็กแสดงการสื่อสารผ่านกระบวนการคิดตลอดเวลาและใช้ภาษาจากแรงจูงใจภายในไม่ใช่การบังคับ ส่งเสริมให้เด็กมีความมั่นใจในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ มีกระบวนการจัดกิจกรรม 4 ขั้นตอน ขั้นที่ 1 กำหนดเนื้อเรื่องนิทาน ขั้นที่ 2 สำรวจความหมายของคำ ขั้นที่ 3 สร้างหนังสือเล่มใหญ่ ขั้นที่ 4 ใช้หนังสือเป็นแหล่งข้อมูล
หลักการการจัดกิจกรรมการทำหนังสือเล่มใหญ่
- เรียนอ่านและเขียนด้วยกันอย่างมีวัตถุประสงค์ การอ่านและการเขียนควรจะเรียนพร้อมกันเพราะเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องซึ่งเด็กจะนำสิ่งที่ได้ในการอ่านมาใช้ในการเขียน
- ฟังและทำความเข้าใจเนื้อเรื่องทั้งหมดก่อนและจึงมาทำความเข้าใจส่วนย่อยๆเช่น ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์
- เลือกเนื้อเรื่องที่เร้าความสนใจของเด็ก หรือให้เด็กสร้างเนื้อเรื่องขึ้นใหม่ตามความสนใจ พยายามให้เด็กเรียนรู้จากแรงจูงใจภายใน(เรียนรู้ด้วยตนเอง)ในห้องเรียนควรมีหนังสือวรรณกรรมเด็กเป็นจำนวนมากเพียงพอ
- เด็กได้เรียนรู้ภาษาอย่างอิสระซึ่งจะทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วและสามารถประเมินการเรียนรู้ของตนเองได้
- เปิดโอกาสให้เด็กมีประสบการณ์ทางภาษาหลากหลายโดยมีครูควรให้คำแนะนำช่วยเหลือ ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครู
- ให้เรียนอ่านและเขียนไปพร้อมๆกันจะทำให้เกิดความแม่นยำในเนื้อหา
- สร้างบรรยายกาศให้เด็กคุ้นกับหนังสือเพื่อซึมซับเรื่องราวในหนังสือ ให้เด็กพูด อ่านเขียนและวาดภาพ เล่นบทบาทสมมุติ จัดพื้นที่ อุปกรณ์เพื่อสนับสนุนให้เด็กทำกิจกรรมสื่อสารภาษาในลักษณะเป็นองค์รวมโดยใช้การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนร่วมกัน
- จัดการเรียนรู้แบบยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ครูศึกษาความสนใจความสามารถ และสอนเด็กตามระดับความสามารถที่แตกต่างกัน ครูเตรียมและวางแผนการสร้างหนังสือตามความสนใจของเด็ก เด็กมีโอกาสใช้ภาษาอย่างเป็นธรรมชาติและอย่างมีความสุข
- ส่งเสริมให้เด็กมีความมั่นใจ กล้าเสี่ยงที่จะพูด เขียน โดยไม่กลัวผิด
- ครูเป็นแบบอย่างที่ดีในการพูด ฟัง อ่านและเขียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น