สื่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนพัฒนาเด็กได้มากกว่าที่คิด
โดย: ดร. สิทธิพร เอี่ยมเสน
รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
"เพียงแค่ธรรมชาติที่อยู่รอบๆบ้านเรา
ก็มีสิ่งยั่วยวนใจให้เด็กได้เรียนรู้มากเหลือเกิน
ใบไม้ใบหญ้าที่แกว่งไกวหรือหลุดปลิวไปเพราะแรงลม
การสร้างบ้านที่อยู่อาศัยของมด กลุ่มชีวิตที่อยู่ใต้พื้นดิน
สำหรับเด็กๆ แล้ว สนามธรรมชาติรอบล้อมบ้าน
เป็นโลกแห่งกิจกรรม เป็นบทเรียนวิทยาศาสตร์
บทเรียนวิชาฟิสิกส์ และวิชาธรรมชาติและสีสัน
(Hirsh-Pasek and Golinkoff, 2003)"
ในตอนวัยเด็ก นอกเหนือจากการเรียนในโรงเรียน และช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ แล้ว พวกเราเด็กๆ ก็มักจะมีเวลาว่างมากเพียงพอที่จะสำรวจธรรมชาติที่อยู่รอบๆ บ้าน หรือบริเวณหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ ทุ่งหญ้า ทุ่งนา ป่าหญ้าคา และ อื่นๆ เราสนุกสนานกับการที่ได้ปีนป่ายต้นไม้ใหญ่ นั่งเล่นอยู่บนต้นไม้นั้นเป็นเวลานานๆ ได้เห็นความเป็นอยู่ของเหล่านกใหญ่น้อยทั้งหลาย ที่อาศัยกิ่งก้านสาขาของไม้ใหญ่นี้เป็นที่กำบังจากภัยต่างๆ บ้างก็สร้างรังอยู่บนต้นไม้ใหญ่นี้ หลายครั้งที่พวกเราก็แกล้งมัน พอพวกเราส่งเสียงดัง หรือขว้างปาวัตถุเข้าไปใส่ต้นไม้ ฝูงนกก็แตกฮือบินหนีไปคนละทิศคนละทางด้วยความตกใจ แต่พวกเรากลับหัวเราะอย่างสนุกสนาน บางครั้งเราก็ปีนต้นไม้เพื่อที่จะไปให้ถึงรังของนก เราอยากจะเห็นบ้านที่อยู่ของนก อยากจะเห็นไข่ หรือลูกเล็กๆ ของมัน ในขณะที่เราใกล้จะถึง เราจะได้ยินเสียงพ่อ แม่ของลูกนกส่งเสียงร้องอย่างดัง ราวกับจะบอกให้เรารู้ว่า อย่าเข้าใกล้หรือทำอันตรายสิ่งที่เขารักและห่วงแหนมากที่สุด
ในทุ่งนาที่เราเดินหรือบางครั้งก็วิ่งผ่าน เราก็จะเห็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลากหลายชนิด เช่น หนู มด บางครั้งเราก็เห็น คราบของงู เรามองเห็นการทำงานของมด เห็นการหาอาหารของบรรดาแมลงต่าง ๆ เห็นผีเสื้อ แมลงตัวเล็ก และ ผึ้ง ที่มาดอมดมน้ำหวานในดอกไม้ บางครั้งเราก็ไปเด็ดดอกไม้เหล่านั้น เพื่อเปิดหาน้ำหวานในดอกไม้นั้น พวกเราก็พบว่า ในดอกไม้ชนิดหนึ่งที่เราเด็ดมามีน้ำหวานอยู่จริง พวกเราสนุกสนานกับการได้ลิ้มรสความหวานของน้ำใสๆ ในดอกไม้นั้น ตัวผมเองไม่เคยสงสัย แต่กลับรู้สึกคุ้นเคย เวลาคุณครูวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนอธิบายถึงส่วนประกอบของดอกไม้ หรือการขยายพันธุ์ของต้นไม้ หรือในข้อสอบที่ถามถึงรั้วกินได้ และประโยชน์หรือลักษณะการใช้งานของเครื่องมือที่ใช้ในการทำสวนครัว ผมได้เรียนแล้วผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้ากับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
เวลาที่ผมวิ่งไปหาพ่อแม่ ที่เกี่ยวข้าวอยู่กลางทุ่ง พ่อก็จะใช้เคียวที่พ่อใช้เกี่ยวข้าว ตัดต้นข้าว แล้วทำเป็นปี่ผมเป่าเล่น พวกเราเด็ก ๆ ก็เป่าให้มีเสียงดังต่างๆ กันเป็นที่สนุกสนาน ผมไห้พ่อเจาะรูเพิ่มเพื่อให้ปี่ต้นข้าวของผมทำได้มากกว่าหนึ่งเสียง และแกล้งทำเป็นว่าเรากำลังบรรเลงดนตรีที่แสนไพเราะ ด้วยเครื่องดนตรีสากลที่เรียกว่า คาริเน็ต เราได้เรียนรู้อะไรต่อมิอะไรมากมาย เราได้พัฒนาส่วนต่างๆ ของร่างกาย พัฒนาจิตใจ อารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และการได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เรียนรู้วัฒนธรรมของบุคคลและสังคม ได้สื่อสารโดยกระบวนการของภาษา โดยที่ไม่มีทฤษฎีการเรียนรู้ได ๆ มาบอกเรา หรือบอกพ่อแม่ของเราเลย
สิ่งแวดล้อมธรรมชาติให้ประโยชน์อย่างไรกับพัฒนาการของเด็ก
"เมื่อพิจารณาถึงผลระยะยาวที่มีต่อเด็ก ทางด้านสุขภาพทางอารมณ์ที่ดี
สุขภาพกายที่ดี ความสามารถในการเรียน และความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมแล้ว
เราไม่ควรที่จะให้เด็กใช้เวลาส่วนมากอยู่แต่ในห้องเรียนหรือในบ้าน
เด็กจะมีพัฒนาการในทุก ๆ ด้านเพียงขอให้เราสนับสนุนให้เด็กได้มีเวลาให้กับธรรมชาติ
(Green Hours) ให้มากในแต่ละวัน (Washington Post, June, 2007)"
สุขภาพกายที่ดี ความสามารถในการเรียน และความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมแล้ว
เราไม่ควรที่จะให้เด็กใช้เวลาส่วนมากอยู่แต่ในห้องเรียนหรือในบ้าน
เด็กจะมีพัฒนาการในทุก ๆ ด้านเพียงขอให้เราสนับสนุนให้เด็กได้มีเวลาให้กับธรรมชาติ
(Green Hours) ให้มากในแต่ละวัน (Washington Post, June, 2007)"
นักการศึกษาและนักวิจัยที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับเด็ก และพัฒนาการของเด็กได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับสื่อที่อยู่ล้อมรอบตัวเด็ก อันได้แก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Stephen Kellert, 2005 in Children&Nature Network, 2008) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Yale ได้กล่าวว่า การที่สภาพแวดล้อมของบ้านที่เป็นสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ จะส่งผลที่ดีกับเด็กในการพัฒนาสมอง ความคิด รวมถึง การพัฒนาศักยภาพในการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินผล ซึ่งเป็นการพัฒนาการของสมองขั้นสูง นอกจากนี้ ในบทความเดียวกัน ยังเพิ่มเติมถึงประโยชน์ของการที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติอีกด้วยว่า เด็กๆ จะมีร่างกายที่สมบูรณ์ และกระตือรือร้น ไม่เป็นโรคอ้วน ซึ่งจะมีโอกาสเสี่ยงสูงในการเป็นโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง
ในส่วนของการจัดการศึกษา รูปแบบการจัดการเรียนการสอนของครูทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก วิธี การสอนแบบเก่าที่เรียกว่า Chalk – and – Talk ได้ถูกลืมเลือนไปในภาคส่วนการศึกษา ครูในยุคปัจจุบัน ได้รับการเสริมสร้างให้มีความรู้ในเรื่องสื่อนวัตกรรมการสอนที่ส่งผลโดยตรงให้ กระบวนการเรียนการสอนมีความน่าสนใจ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ( Singh, 2007) แต่เมื่อพูดถึงสื่อนวัตกรรมการสอน คนโดยทั่วไปมักเข้าใจว่า หมายถึง เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร (Information Communication Technologies (ICT)) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในประเทศที่ได้รับการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนา กลับมาให้ความสนใจในนวัตกรรมการเรียนการสอนที่มีต้นทุนต่ำ (Low-Cost Teaching Aids) หรือไม่ต้องลงทุนและหาได้ในท้องถิ่น สื่อนวัตกรรมการเรียนการสอนเหล่านี้ ผลิตได้อย่างง่ายๆ จากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น หรือ หยิบใช้ได้โดยตรงจากธรรมชาติรอบๆ ตัว และยังทำให้เป็นโรงเรียนที่พึ่งตนเองได้ ลดค่าใช้จ่ายทางด้านการจัดการศึกษาของโรงเรียน การเลือกสรร การให้ความสนใจกับชุมชนและการนำธรรมชาติไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียน จะทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมีความหลากหลาย ความน่าสนใจ และเกิดผลประโยชน์สูงสุดกับโรงเรียนในท้องถิ่นนั้นๆ
"ต้นกล้วยน้ำหว้าต้นหนึ่ง ไม่ใช่ให้เพียงผลกล้วยที่มีคุณค่าทางโภชนาการกับทุกคนเท่านั้น
การเกิด เจริญเติบโต ให้ผล และตายไปของต้นกล้วยต้นหนึ่ง
ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วงจรชีวิตของมัน เด็กได้พัฒนาทักษะการสังเกต
เรียนรู้การเปลี่ยนแปลง จดบันทึก เรียนรู้ที่จะรักธรรมชาติ
เด็กบางคนนำก้านกล้วยมาประดิษฐ์เป็นม้าก้านกล้วย วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน
เรือใบที่ได้รับการสร้างสรรค์จากกาบกล้วย ถึงแม้จะดูไม่มีมาตรฐานนัก
แต่ก็ให้ความสุขในจิตใจของเด็กๆ เหล่านั้น
ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์และจิตใจ ได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กับร่างกาย
โดยที่ตัวเด็กๆ เอง อาจจะไม่ได้คิดถึงสิ่งดีๆเหล่านี้ ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเองด้วยซ้ำไป"
การเกิด เจริญเติบโต ให้ผล และตายไปของต้นกล้วยต้นหนึ่ง
ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วงจรชีวิตของมัน เด็กได้พัฒนาทักษะการสังเกต
เรียนรู้การเปลี่ยนแปลง จดบันทึก เรียนรู้ที่จะรักธรรมชาติ
เด็กบางคนนำก้านกล้วยมาประดิษฐ์เป็นม้าก้านกล้วย วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน
เรือใบที่ได้รับการสร้างสรรค์จากกาบกล้วย ถึงแม้จะดูไม่มีมาตรฐานนัก
แต่ก็ให้ความสุขในจิตใจของเด็กๆ เหล่านั้น
ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์และจิตใจ ได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กับร่างกาย
โดยที่ตัวเด็กๆ เอง อาจจะไม่ได้คิดถึงสิ่งดีๆเหล่านี้ ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเองด้วยซ้ำไป"
ธรรมชาติล้อมรอบตัวเด็กนั้น จัดได้ว่าเป็นการขยายห้องเรียนให้กับนักเรียนของเรา นักเรียนจะได้มีโอกาสเรียนรู้โดยผ่านประสาทสัมผัสในทุกๆ ด้าน และครอบคลุมทุกๆ แขนงของหลักสูตร ธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเด็ก ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ล้วนเป็นบทเรียนและแบบฝึกหัดที่มีประโยชน์โดยตรงต่อทั้งตัวเด็ก และครูผู้สอน (http://www.workingwithwildlife.co.uk/learning/default.asp) เด็กนักเรียนในระดับปฐมวัยสามารถใช้เวลานอกห้องเรียนในการเรียนรู้ธรรมชาติในโรงเรียนและชุมชน ได้ถึง ๑ ใน ๔ ของเวลาที่ต้องใช้ที่โรงเรียน นอกจากนักเรียนจะได้ความรู้จากหลากหลายกิจกรรมที่ครูสามารถให้นักเรียนเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยพัฒนาให้นักเรียนมีความรู้สึกรัก รับผิดชอบและเป็นเจ้าของธรรมชาตินั้นๆ เป็นการพัฒนาในระดับปัจเจกบุคคล ที่มีผลต่อการพัฒนาในระดับชุมชน ระดับชาติ และระดับโลก ต่อไป และยังส่งผลในเรื่องสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชนอีกด้วย เด็กได้พัฒนาและเรียนรู้ทักษะเพื่อการดำรงชีพของตนเองไปตลอดชีวิต (Life-Long Skills) เช่น การปลูกและทำนุบำรุงรักษาต้นไม้ การปลูกดอกไม้ ผัก และผลไม้ต่าง ๆ เด็กได้เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม ใช้ภาษาที่เหมาะสมในการสื่อสารกับสมาชิกในกลุ่ม พัฒนาความเชื่อมั่น และความศรัทธาในตนเอง
จากการวิจัยพบว่า เมื่อเด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมกับการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมของบ้าน โรงเรียน หรือชุมชน งานสร้างสรรค์ของเด็กจะแตกต่างจากงานของผู้ใหญ่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในความเป็นมืออาชีพ แต่เด็กจะได้รับการพัฒนาในด้านจินตนาการ และการมีส่วนร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสอดคล้องกับพัฒนาการของตัวเขา (White & Vicki, online) ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจทั่วประเทศในประเทศHolland พบว่า คนที่อยู่ในบริเวณหรือห่างจากพื้นที่สีเขียว ประมาณ ๑ ถึง ๓ กิโลเมตร มีสุขภาพที่ดีกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณดังกล่าว (Haas et al., 2006 in Children&Nature Network, online) ต้นไม้และธรรมชาติสีเขียวมีผลในการลดความเครียดของกลุ่มเด็กที่มีความเครียดสูง และผลดีที่สุดจะมีความสัมพันธ์กับจำนวนพืชสีเขียว พื้นที่สีเขียว และการได้เล่นกับธรรมชาติ ประสบการณ์ที่เด็กๆ ได้ลงมือปฏิบัติจากการได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมจะหล่อหลอมสติปัญญาและทักษะ ที่เป็นที่ยอมรับในหลักการของการจัดการศึกษาปฐมวัยที่ว่า เด็กจะเรียนได้ดีที่สุดโดยผ่านกระบวนการเล่นและการค้นพบอย่างเสรี (Hughes, 1991) การเล่นอย่างเสรีกับธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์และน่าดึงดูดใจสำหรับเด็ก เด็กเกิดจินตนาการ ความอยากรู้อยากเห็น การเล่นที่มีคุณภาพนั้นจะพัฒนาเด็กในทุกๆ ด้าน ทั้งร่างกาย การรับความรู้สึก อารมณ์ สติปัญญา และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Haas, 1996)
เกิดอะไรขึ้นกับเด็ก ๆ ในทุกวันนี้
ในอดีตเด็กๆ เคยได้รับความสุขสนุกสนานกับการที่ได้มีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสกับธรรมชาติมากกว่าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินบนทางเดินเท้า ถนนหนทาง พื้นที่ว่าง สวนสาธารณะ ทุ่งนา ป่าเขา ลำธาร พวกเขาเคยได้สำรวจ เคยเล่น และสัมผัสกับโลกธรรมชาติ โดยปราศจากข้อห้ามหรือการตรวจสอบใดๆ หรือจะมีบ้างก็เพียงเล็กน้อย แต่เด็กๆ ในปัจจุบัน แทบจะไม่มีโอกาสเช่นนั้นเลย โดยเฉพาะเด็กๆ ในชุมชนเมือง การเล่นกับธรรมชาติอย่างเสรี จะมีแต่ข้อห้าม หรือมีโอกาสก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขอบเขตการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจถูกจำกัดและลดลง (Francis, 1991) จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่า จากผู้ปกครองที่ตอบแบบสอบถามร้อยละ ๙๔ กล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยเป็นประเด็นสำคัญในการที่จะอนุญาตให้เด็ก ๆ ออกเล่นนอกบ้านได้อย่างเสรี (Bagley, Ball and Salmon, 2006 in Children&Nature Network, 2008) เช่นเดียวกันกับนักวิจัย ของมหาวิทยาลัย Hofstra ที่สอบถามคุณแม่ จำนวน ๘๐๐ คน ร้อยละ ๘๒ ไม่อนุญาตให้ลูกๆ เล่นนอกบ้านเนื่องจากความกังวลเรื่องอาชญากรรม และ ความปลอดภัย (Clements, 2004 in Children&Nature Network, 2008)
เด็กเล่นน้ำตามลำคลองอย่างสนุกสนาน เรียนรู้ที่จะว่ายน้ำเพื่อการเอาตัวรอด ว่ายน้ำเป็นโดยที่ไม่ต้องเสียสตางค์ไปเรียนที่โรงเรียนสอนว่ายน้ำ เด็กหลายคนในทุกวันนี้ว่ายน้ำไม่เป็น หลายคนไม่เคยเห็นทะเล หลายคนไม่เคยขึ้นภูเขา ไม่รู้ว่าหน่อไม้คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร หลายคนกลัวป่า กลัวต้นไม้ หลายคนเดินได้เพียงไม่กี่ร้อยเมตรก็เหนื่อยมากจนไม่สามารถเดินต่อไปได้ มันเกิดอะไรขึ้นกับเด็กเหล่านี้ Hofstra University ได้สำรวจคุณแม่ ๘๐๐ คน ที่มีลูกอายุระหว่าง ๓ ถึง ๑๒ ปี พบว่า คุณแม่ร้อยละ ๘๕ ยอมรับว่าเด็กเล่นนอกบ้านน้อยลงกว่าแต่ก่อน และคุณแม่ร้อยละ ๗๐ เล่นนอกบ้านทุกวันเมื่อตอนเป็นเด็ก แต่เพียงร้อยละ ๓๑ ของเด็กในปัจจุบันเท่านั้นที่เล่นนอกบ้านอยู่เป็นประจำ (Clements, 2004 in Children&Nature Network) ความไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กเมื่อถูกปล่อยอยู่ตามลำพังเพื่อการเล่นกับธรรมชาติอย่างเสรี ความที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดหรือเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพ่อแม่ และการเพิ่มขึ้นของสื่อเทคโนโลยี เช่น การดูโทรทัศน์และการเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ มีส่วนทำให้การเล่นกับธรรมชาติของเด็กลดลงหรือหายไป เช่น เด็กอายุ ๘ ขวบกลุ่มหนึ่งสามารถบอกลักษณะของ Pokemon ได้มากกว่าพันธุ์ของสัตว์ป่าถึง ร้อยละ ๒๕ (Balmfold, Clegg, Coulson and Taylor, 2002 in Children&Nature Network, 2008) จากการสำรวจของ Kaiser Family Foundation ในปี ค.ศ. ๒๐๐๕ ถึง ๒๐๐๖ พบว่า เด็กอายุระหว่าง ๖ เดือนถึง ๖ ปี ใช้เวลากับสื่อทางอีเลกโทรนิค เฉลี่ยวันละ ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที ในขณะที่เด็กอายุระหว่าง ๘ ปี ถึง ๑๘ ใช้เวลาในเรื่องเดียวกันนี้ถึงเฉลี่ยวันละ ๖ ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งมากกว่า ๔๕ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (Children&Nature Network, 2008 online)
เหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการที่ดีของเด็ก ทั้งเรื่องสุขภาพกายและจิตใจที่แย่ลง พัฒนาการด้านอื่นๆ ก็ไม่ได้รับการพัฒนาให้เต็มตามศักยภาพที่ควรจะเป็นของเด็ก เรากำลังจะปลูกไม้พันธุ์ใหญ่ลงในกระถางที่มีขอบเขตจำกัด ซึ่งผลที่ได้มาก็อาจจะดูสวยและ แปลกตา อาจเป็นที่นิยม นั่นก็เพราะ มันเป็นเพียงต้นไม้
เราจะช่วยเด็กกันได้อย่างไร
เนื่องจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กในทุก ๆ ด้าน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เราก็ควรที่จะดำเนินการใดๆ ที่ จะก่อให้เกิดผลดังกล่าว ในต่างประเทศ มีองค์กรเครือข่ายที่ใช้ชื่อว่า The Children & Nature Network (C&NN) ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการเป็นสื่อกลางระหว่างเด็กกับธรรมชาติ ให้ข้อมูล ข่าวสารและรายงานผลการวิจัย เพื่อกระตุ้นและสนับสนุน พร้อมทั้งเป็นเครือข่าย ให้ประชาชนและองค์กรต่างๆ พัฒนากิจกรรมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ นอกจากนั้น ยังได้ทำงานร่วมกับนักวิจัย นักการศึกษา และองค์กรอื่นๆ ที่อุทิศตนเพื่อให้เด็กมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
C&NN ได้ริเริ่มโครงการระดับชาติที่มีชื่อว่า "Leave No Child Inside" ที่มุ่งเน้นให้ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนและผู้ปกครองได้ตระหนักและใช้ธรรมชาติเป็นสื่อให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง สื่อธรรมชาติเหล่านี้หาได้ในทุกๆ พื้นที่ ไม่ต้องลงทุน สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น และมีให้ได้ใช้ในทุก ๆ โอกาส ทุกโรงเรียนควรจัดให้มีธรรมชาติในบริเวณโรงเรียน หรืออาศัยธรรมชาติจากชุมชน การจัดธรรมชาติควรให้เด็กได้มีส่วนร่วม ให้เด็กได้มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น ได้ลงมือปฏิบัติจริง เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นกับธรรมชาติอย่างเสรีมากขึ้น ภายใต้ สถานการณ์ที่ปลอดภัย
วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบันล้วนมีผลกระทบต่อเด็กๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านจิตใจ อิทธิพลของสื่อเทคโนโลยีที่ยากแก่การควบคุม อันมีผลมาจากการแข่งขัน ความต้องการให้เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน และผลกำไรที่จะตามมา สื่อดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์ มีอยู่และหาได้ในแทบจะทุกครัวเรือน พ่อแม่ของเด็กหลายต่อหลายคนได้ใช้สื่อนี้เป็นพี่เลี้ยงและสอนลูกของตนเองอยู่วันละเป็นเวลานานๆ การเพิ่มขึ้นของการบ้านที่เด็กได้มาจากโรงเรียน ความไม่ปลอดภัยของชีวิตภายนอกบ้าน และการดำเนินชีวิตของคนบางตนได้เปลี่ยนแปลงไป สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการเด็กอันเป็นผลเนื่องมาจากการได้สัมผัสธรรมชาติ อย่างไรก็ตามหากเราหาทางป้องกัน และเปิดช่องทางธรรมชาติให้กว้างขึ้น เพื่อที่เด็กๆ จะได้เดินไปสัมผัสได้ง่ายและสะดวกขึ้น จะช่วยให้ธรรมชาติเป็นสื่อที่จะพัฒนาเด็กให้มีความรู้ มีจิตใจอ่อนโยน ก่อให้เกิดความรักในธรรมชาติ รักชุมชน ได้เรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะ กระบวนการทางความคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมต่อไป
References
Children&Nature Network. (2008). Children and Nature. Retrieved December 28, 2008 from http://www.childrenandnature.org/uploads/CNmovement.pdfFrancis, M. (1991). Children of nature. U.C. David Magazine, v 9 n 6
Haas, M. (1996). Children in the junkyard. Children Education, v 72 n 6.
Hirsh-Pasek, K. & Golinkoff, R. M. (2003). How our children learn and why they need to play more and memorize less. Retrieved December 27, 2008 from http://www.buzzle.com/editorials/10-4-2003-46152.asp
Hughes, F. P. (1991). Children play and development. Massachusetts, Allyn & Bacon. Learning through nature. Retrieved December 29, 2008 from http://www.workingwithwildlife.co.uk/learning/default.asp
Singh, H. P. (2007). Low cost teaching aids for rural schools in India. Retrieved December 30, 2008 fromhttp://knol.google.com/k/hareshwar-singh/low-cost- teaching-aids-for-riral/s
White, R. & Vicki, S. Children's outdoor play & learning environments: Returning to nature. Retrieved December 30, 2008 fromhttp://www.whitehutchinson.com/children/articles/outdoor.html
แหล่งอ้างอิง นำมาจากเว็บ http://www.la-orutis.dusit.ac.th/research6.php
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น