Cute Orange Flying Butterfly

วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557

2.บทความเล่นแบบไทยสุขใจกับธรรมชาติ

เล่นแบบไทยสุขใจกับธรรมชาติ


โดย: มุทิตา ทาคำแสน


.................“ขุดคลองในดิน นำน้ำมาใส่ให้ไหลมาในคลอง แล้ววิ่งไปเก็บกิ่งไม้ที่พุ่มไม้ วิ่งกลับมา ‘ปลูก’ ไว้ริมคลองนี่คือการสัมผัสครั้งแรกกับงานชลประทาน และการปลูกป่า”.......... 

การเล่นสร้างเขื่อนจากดินและน้ำเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเยาว์ กลายเป็นพระราชภารกิจยิ่งใหญ่ในการนำพาชาวไทยให้ดำรงชีวิตอย่างผู้มีปัญญา ตามแนวพระราชดำริ ในเรื่อง เศรษฐกิจ การเกษตร การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ ล้วนเป็นตัวอย่างให้ พสกนิกรนำเอาภูมิปัญญาสากลมาใช้ร่วมกับภูมิปัญญาไทยอย่างผู้รู้จักตนเอง สามารถเลือกทางเดินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและพึ่งพาตนเองได้ (บุษบง ตันติวงศ์. 2550. หน้า 9-11)

เมื่อได้เห็น พระฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ในหนังสือเจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ยิ่งย้ำเตือนให้เราทุกคนได้รู้ถึง คุณค่าของธรรมชาติกับการเล่นของเด็ก ดังที่ท่านอาจารย์บุษบง ตันติวงศ์ ได้กล่าวไว้ว่า “การเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและวัฒนธรรมเป็นเรื่องจำเป็นมากในการพัฒนาปัญญาให้รู้จักใช้เหตุผลอย่างแยบคาย และต่อเนื่องกันทั้งด้านวัตถุและจิตใจ”





การเล่น ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเด็ก ไม่ว่าเด็กในช่วงวัยใดต่างก็ต้องการการเล่น การเล่นสำหรับเด็กนั้นมีความหมายสำคัญเกินกว่าที่ผู้ใหญ่จะคาดถึง เพราะมันคือหัวใจ ที่ช่วยให้สมองของเด็กเติบโต แต่ต้องเป็นการเล่นที่เหมาะสมกับพัฒนาการ ความเพลิดเพลิน ที่เด็กได้รับจากการเล่น เป็นการเปิดประตูการเรียนรู้ต่างๆ ทุกครั้งที่ ได้ยิน ได้เห็น จับต้อง ลิ้มรส หรือได้กลิ่น จะมีการส่งสัญญาณไปยังสมอง ยิ่งการเล่นมีความหลากหลายมากเท่าใด การเชื่อมโยงของเซลล์สมองก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น เมื่อมีการเชื่อมโยงมาก สติปัญญาของเด็กในด้านต่างๆ ก็จะพัฒนาตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ความคิดรวบยอด การแก้ปัญหา รู้จักลองผิดลองถูก 

“อย่ามองการเล่นของเด็กว่า เล่นอะไร เพราะคำตอบคือเล่นของเล่น แต่ถ้าคิดต่อว่า เล่นอย่างไร ก็จะเห็นสิ่งที่นำมาเล่น ซึ่งอาจไม่ใช่ของเล่นทั่วไป ...ของใช้ ...ท่อนไม้...ใบไม้...ก้อนหิน...กะลา สารพัดสิ่งของที่นำมาเล่นต้องผ่าน กระบวนการคิด ว่าจะเล่นอย่างไร ถ้าเล่นหลายคนก็ช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ปัญหา” (ชีวิน วิสาสะ. 2546. หน้า 58)

ผู้เขียนเองยังแอบรู้สึกภูมิใจอยู่ลึกๆ เมื่อย้อนไปถึงอดีตในวัยเด็ก เป็นช่วงเวลาที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติกับชีวิตชนบทในส่วนหนึ่งของภาคเหนือ นึกถึงความสุข กับการเล่น รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความชื่นบาน ดูเสมือนเป็นความทรงจำอันมั่นคงที่ไม่เลือนหาย ชีวิตในวัยเด็ก เต็มไปด้วยการผจญภัยสิ่งแวดล้อมทุกสิ่งอย่างล้วนแล้วแต่เป็นโลกของการเรียนรู้ที่น่าตื่นเต้นของเล่นเป็นลักษณะการ หยิบยืมมาจากธรรมชาติ เนื่องจากหน้าบ้านเป็นทุ่งนาจึงมี “ดินเหนียว” เป็นของเล่นที่ใกล้มือที่สุด ได้ปั้นรูปสัตว์ต่างๆ ตามแบบที่ตายายปั้นให้ดูบ้าง หรือคิดออกแบบ ปั้นเองแล้วตั้งชื่อผูกเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาบ้าง ไม่รู้ตัวหรอกว่านั่นคือการได้ฝึกกล้ามเนื้อมือและทักษะทางภาษา นอกจากได้เรียนรู้เกี่ยวกับดิน ยังเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อาศัยอยู่ใน ทุ่งนาเช่น ไส้เดือน กบ เขียด คางคก หอย ปู ปลา และสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย 





หลังบ้านที่เป็นสวนมีแม่น้ำสายเล็กๆ ไหลผ่าน ทำให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับน้ำและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ ในสวนหลังบ้าน มีต้นหมากซึ่งจะผลัดกิ่งก้านอยู่เสมอ เมื่อแก่ก็จะหลุดลงมา ทั้งกาบ ซึ่งจะมีลักษณะโค้งโอบขึ้นมา เด็กลงไปนั่งได้ ใช้เป็นรถลากอย่างวิเศษ คนนั่งจะจับขอบ ทั้งสองของกาบหมากให้แน่น ส่วนคนลากจะจับตรงปลายที่มีใบ แล้ววิ่งไป พอเหนื่อยก็จะผลัดมานั่งบ้าง ผู้เขียนกับน้องสาวเรียกของเล่นชิ้นนี้ว่า รถวิเศษหากเหนื่อยจากการเล่น “รถวิเศษ” เราก็เปลี่ยนบรรยากาศ หันไปมีส่วนร่วมกับพ่อแม่ที่กำลังดูแลต้นมะม่วงกับต้นกล้วย เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คงช่วยได้แต่รินน้ำเย็นๆ ส่งให้พ่อกับแม่ดื่มคลายร้อนเพียงเท่านี้ท่านทั้งสองก็ชื่นใจ นอกจากความภูมิใจที่ได้ทำความดีแล้ว เราก็มักจะได้ กังหันใบมะม่วงจากแม่ และ ปืนก้านกล้วยจากพ่อ เป็นรางวัลพิเศษทุกครั้งไป หลังจากนั้นเราก็จะไม่รบกวนการทำงานของท่านเพราะเด็ก ก็จะไปทำงานของเด็กเช่นกัน เพราะ การเล่น แท้จริงคือ การทำงานของเด็ก(นภเนตร ธรรมบวร. 2549. หน้า 131)






ในฤดูหนาว เด็กผู้หญิงมีวิธีคลายหนาว โดยการเล่นมอญซ่อนผ้า นั่งเป็นวงกลม รับแดดอุ่นๆ ในยามเช้า อุปกรณ์ในการเล่น คือ ผ้าเช็ดหรือเก็บเอาใบไม้ขนาดใหญ่ๆ มา 1 ใบ พร้อมบทเพลงประกอบการเล่นเพื่อความรื่นเริง นอกจากการเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้ไหวพริบและรู้จักสังเกตเหตุการณ์ต่างๆ แล้วเด็กยังได้ในเรื่องของความซื่อสัตย์และการรักษากฎกติกา ในการเล่นอีกด้วย ส่วนเด็กผู้ชายมักจะแยกพื้นที่เล่นไปอยู่อีกมุมหนึ่ง ดูเหมือนว่าพวกเขาจะต้องการสมาธิ การตัดสินใจ และอาศัยความกล้า ท้าทายความสามารถอยู่กับการทรงตัวให้ได้บนไม้ต่อขาสูงซึ่งทำจากไม้ไผ่ที่มีความยาวเท่ากัน 1 คู่ สูงกว่าตัวเด็ก (ความสูงประมาณ 200 - 300 ซม.) และต่อท่อนไม้เล็กๆ ยื่นออกมาสำหรับไว้เหยียบทั้งด้านซ้ายขวา บ้างก็มีแบบสูงจากพื้นเกือบถึงเข่าพอที่ก้าวขึ้นไปเหยียบได้ พี่ที่โตๆ หน่อยมีสูงเกือบถึงเอว เวลาจะขึ้นไปเหยียบทีก็ต้องปีนไปบนโต๊ะ เสียงร้องตะโกนไชโยๆ ด้วยความภาคภูมิใจดังขึ้นมาเป็นระยะๆ เวลาที่พวกเค้าสามารถทรงตัวบน “ไม้ต่อขาสูง” และก้าวเดินได้ แรกๆ ก็มีรอยถลอกกลับบ้านบ้างแต่ทุกคนก็สนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้ ได้เรียนวิทยาศาสตร์ไปแบบไม่รู้ตัว เรื่องของจุดศูนย์ถ่วง พวกเราค้นพบว่าถ้าหากเราสามารถกำหนดจุดศูนย์ถ่วงได้ดีตัวเรากับไม้ต่อขาสูงเราก็จะไม่เสียหลักและทำให้เราเดินได้ง่าย การเล่นอีกอย่างที่เป็นที่นิยมเล่นไม่รู้เบื่อ สามารถเล่นด้วยกันได้ทั้งชายหญิง ทั้งพี่และน้อง บางทีลุงป้าน้าอาก็มาประลองความสามารถกันด้วยความสนุกสนาน คือการเล่นสะบ้า สะบ้าเป็นไม้เถา ลูกเป็นฝักยาวๆ ห้อยลงมา แต่ละฝักจะมีลูกประมาณ 3-8 เม็ด ลูกสะบ้าจะมีลักษณะกลมแบน ตรงกลางนูนเล็กน้อยใช้กลิ้งหมุนไปบนพื้นเรียบๆ ได้ดี บางครั้งเด็กๆ ก็เอาสะบ้า 5-10 ลูก วางตั้งกับพื้นดินเป็นแถวเรียงหน้ากระดาน แล้วกำหนดจุดยืนหรือจุดยิง ให้ห่างออกไปแล้วแต่ว่าจะ สร้างข้อตกลงร่วมกัน แบ่งลูกสะบ้า (ลูกยิง) ให้ผู้เล่นเท่าๆ กัน แล้วผลัดกันโยนให้สะบ้าที่ตั้งไว้ล้มลง นับแต้มว่าใครโยนให้ล้มได้มากกว่า คนนั้นเป็นฝ่ายชนะ ผู้เขียนจะสนุกเป็นพิเศษถ้าได้เล่นกับพ่อเพราะข้อตกลงที่สร้างขึ้นนั้นมักจะเอื้อสำหรับลูกเสมอ เช่น ได้ยืนในจุดที่ใกล้กว่า ได้ลูกยิงมากกว่า เป็นต้น การเล่นชนิดนี้สำคัญที่เป็นการฝึกความแม่นยำ ในการยิงเป้าหมาย กะระยะทาง และเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือให้ประสานสัมพันธ์กับสายตา ลูกสะบ้าเพียงหนึ่งฝักสามารถพลิกแพลงวิธีการเล่นต่างๆ ได้อย่างมากมายหลายรูปแบบโดยไม่มีผิดไม่มีถูก




เล่นแล้วเกิดคุณค่า ในแง่ของพัฒนาการ ได้รับการพัฒนาทางด้านกล้ามเนื้อ ร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ และสติปัญญา ได้พัฒนาความคิด สิ่งสำคัญคือ เกิดความภาคภูมิใจ ในตนเอง ความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นการเล่นที่ต่อยอดทางความคิดไปเรื่อยๆ เหนือสิ่งอื่นใดคือความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว 

การที่ผู้ใหญ่ได้เล่นกับเด็ก นอกจากจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กแล้ว ยังเป็นการสร้างความรัก ความผูกพัน ระหว่างกันด้วย ดร.วรนาท รักสกุลไทย บอกว่า การให้เด็กได้ลงมือเล่นเองจะทำให้เด็กเกิดความคิดออกแบบ เมื่อทำสำเร็จเด็กจะเกิดความภาคภูมิใจ ของเล่นก็ควรเป็นของเล่นที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เป็นของเล่นปลายเปิดที่ไม่มีคำตอบถูกผิด ทำให้เด็กได้ลองผิดลองถูกซึ่งเด็กจะเกิดการเรียนรู้ และมีความสุขที่ผู้ใหญ่เคารพการตัดสินใจของเขา

นอกเหนือจากภาพแห่งความสุขจากการเล่นแล้ว เรายังจดจำภาพของคนเฒ่าคนแก่ นั่งทำของเล่นพื้นบ้าน ของเล่น ซึ่งเปรียบเสมือนมนต์วิเศษที่เรียกให้เด็กๆ มาขลุกอยู่กับคนแก่ เฝ้าดู เฝ้าคอย ของเล่น หน้าตาแปลกๆ ไม่เคยพบเห็นมาก่อน จะสำเร็จออกมาให้พวกเด็กได้เล่น คนแก่เองก็สุขใจ ที่ลูกหลานอยู่ใกล้ชิด คอยถามไถ่ ซักถาม พูดคุยนอกจากนั้น ของเล่นพื้นบ้านเหล่านี้ยังเป็นตัวเชื่อมให้คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ได้ใกล้ชิดกับคนแก่และลูกหลานอีกด้วย คนเฒ่าคนแก่ก็ไม่ได้มีชีวิตอยู่อย่างหงอยเหงา โดดเดี่ยวเดียวดายอีกต่อไป พวกเขามีความสุขใจที่รู้ว่าตนเองยังมีค่ามีความหมาย





ของเล่นจากวัสดุธรรมชาติมีเสน่ห์อยู่ตรงที่ทำด้วยมือ ทำด้วยความรัก ด้วยจิตใจ จึงเป็นของที่มีคุณค่า และสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้นๆ ของเล่นพวกนี้มีความอ่อนโยนสามารถเชื่อมโยงเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสังคม ส่งเสริมให้เด็กมีสายใยร่วมกัน ในขณะที่เด็กเล่นเป็นกลุ่ม ผู้ใหญ่สามารถสอดแทรกเรื่องความเมตตา ความมีน้ำใจ คุณธรรมจริยธรรม ซึ่งถ้าจะกล่าวไปแล้วมีมากมายนับไม่ถ้วน อาทิ เช่น


   
 ของเล่นที่ต้องอาศัยแรงดันอากาศและแรงยก เช่น กังหันใบลาน กังหันเสียง กังหันไม้ไผ่เครื่องบินร่อน บั้งโพ๊ละอัดลม จานบินจีน จานบินญี่ปุ่น จานบินไทย กังหันบิน ปืนอัดลมจุกก๊อก ว่าว เรือป๊อกแป๊ก ฯลฯ







     ของเล่นที่ต้องอาศัยความสมดุล มีคาน ล้อ เพลา เป็นส่วนประกอบ เช่น รถไม้ สามล้อ ตำข้าว เรือสาน งูไม้ไผ่ เรือเวียดนาม นกจูง สามล้อ คนเลื่อนไม้ ม้าโยก หมุนถ่วง บาร์มือ ฯลฯ











ของเล่นที่เด็กได้เรียนรู้เรื่องเสียง เช่น ปี่เสียงนก ขลุ่ยเล็ก นกหวีด จักจั่น ป๋องแป๋ง ลูกข่างเสียง โหวดเล็ก แคนเสียง ฯลฯ












ของเล่นที่ต้องอาศัยแรงในการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนที่ เช่น ธงสะบัด ลูกข่างตะปู หุ่นชัก กังหันมือ/กำหมุน ปืนหนังยาง งูกินนิ้ว ควายกะลาวง ฯลฯ







ตัวอย่างของเล่นและการละเล่นดังกล่าวข้างต้นมีหลายท่านที่ลืมวิธีการเล่น หรือเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักเลยก็อาจเป็นได้ เพราะมาถึงยุดปัจจุบันนี้ เด็กรุ่นใหม่เป็นอีกแบบหนึ่ง คือการเล่นใช้วัสดุธรรมชาติน้อยลงและส่วนใหญ่ก็ใช้เวลาว่างหันหน้าเข้าจอโทรทัศน์เสียมากกว่า จะไปออกกำลังกลางแจ้ง หรือนั่งจับกลุ่มเล่นอย่างแต่ก่อน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกมพื้นเมืองค่อยๆ ถูกลืมไปและขาดตอนอย่างน่าเสียดายคือ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มาพร้อมๆ กับเด็ก รุ่นนี้ ลานดินลานบ้านที่เด็กรุ่นเก่าเคยเล่น กลายเป็นถนนหนทางและบ้านเรือนหมดแล้ว ความใกล้ชิดกับธรรมชาติของเด็กลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด และยิ่งมีโทรทัศน์ เกมกด เกมคอมพิวเตอร์เข้าไป การละเล่นต่างๆ ก็ถูกลืมหมดความสนใจเร็วขึ้น 

ถ้าจะนับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องอนิจจัง ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป ก็ไม่ต้องเป็นห่วงอะไรมาก เด็กจะดูโทรทัศน์หรือขอเงินไปซื้อของเล่นญี่ปุ่น ฮ่องกง ก็ไม่คำนึง ดีไปอย่างหนึ่ง แต่ถ้าอยากให้เด็กได้ออกกำลังกายกลางแจ้ง ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ หรือได้สนุกสนานแบบรวมกลุ่มเล่น ก็ควรพาไปเล่นเกมบ้าง และถ้าได้สอดสอนให้รู้จักกับการเล่นแบบพื้นเมืองด้วย สักอย่างสองอย่างก็คงจะดีไม่น้อย เด็กจะได้รู้ว่าประเทศไทยก็มีเกมพื้นเมืองสนุกๆ เล่นกับเขาหลายอย่างเหมือนกัน (เอนก นาวิกมูล. 2539. หน้า 123-124)

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมจัดกิจกรรม และอบรมสัมมนาด้านสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย กับคุณครูของโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจังหวัดต่างๆ ในโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับกลับมาทุกครั้งคือความประทับใจ และรู้สึกปลื้มใจเป็นอย่างมากที่คุณครูทุกคนสามารถ หยิบยกเอาความโดดเด่นในท้องถิ่นของตนออกมานำเสนอในรูปแบบของสื่อการสอน สำหรับเด็กปฐมวัยได้อย่างสมภาคภูมิ ไม่ว่าจะเป็น การประดิษฐ์ภาพและแต่งคำคล้องจองสอนเด็กเกี่ยวกับผ้าหม้อฮ่อมและขนมจีนของจังหวัดแพร่ ผลงานการประดิษฐ์แก้วกระดาษ ของเล่นจากลูกย่าง ที่จังหวัดพังงา การสานปลาตะเพียน เครื่องเล่นดนตรีไทยแบบจิ๋ว และการจัดทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยหลายๆ แห่งให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ในจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา ครั้งล่าสุดที่ศูนย์พิษณุโลก ทุกคนต้องทึ่งกับผลงานที่คุณครูหลายจังหวัดนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็น ดอกไม้ประดิษฐ์จากข้าวเหนียว หมูน้อยน่ารักจากใยบวบ ฯลฯ

ครั้งแรกที่เจอกัน เมื่อพูดคุยถึงอุปสรรค์ในการจัดการเรียนการสอน มักจะได้ฟังคำบอกเล่าที่ออกมาในลักษณะความน้อยเนื้อต่ำใจ และเรื่องที่มักจะพูดถึงบ่อยที่สุด คือเรื่องของ สื่อการเรียนการสอน คุณครูหลายคนมักจะบอกว่าตนเองไม่มีความพร้อมเรื่องสื่อฯ อุปสรรค์ คือความเป็นชนบท และการห่างไกลความเจริญ แต่เมื่อลองมาคุยกันถึงแก่นแท้ของการ จัดการศึกษาแล้วทำให้เราพบความจริงที่ว่าการศึกษาปฐมวัยนั้นมุ่งเน้นการพัฒนาเด็กบนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดู และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติ และพัฒนาการของเด็กแต่ละบุคคล ภายใต้บริบททางวัฒธรรม อารยธรรม และวิถีชีวิตทางสังคม ซึ่งมีลักษณะต่างกัน 


พรบ. การศึกษา 2542 มาตรา 7 ระบุไว้ว่า “ในกระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษา และส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมายความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีความภาคภูมิใจในความ เป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมและของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้ อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งพาตนเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง” 



“บรรยากาศในการเรียนรู้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของรูปแบบฯ บรรยากาศที่อบอุ่นงดงามด้วยพลังธรรมชาติรอบตัว สะท้อนจุดยืนของรูปแบบฯ ในการปกป้องธรรมชาติของวัยเด็ก” (บุษบง ตันติวงศ์. 2550. หน้า 36


สุดท้ายคุณครูทุกคนจึงได้ข้อสรุปว่าสภาพแวดล้อมที่คุณครูบอกว่าเป็นชนบท อยู่ห่างไกลความเจริญนั้นไม่ใช่อุปสรรค์ของการจัดการเรียนรู้และมันกลับตรงกันข้ามเพราะแท้จริงมีคุณค่ามหาศาลแอบแฝงอยู่ และการใช้ของเล่นที่เป็นธรรมชาติที่อยู่รอบตัว เป็นการเล่นที่มีคุณค่าในลักษณะที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่วิถีชีวิต เราจะไม่มองว่าของเล่นที่ดีต้องราคาแพงเท่านั้น เพราะนั่นเป็นความคิดที่ผิด ของเล่นที่ได้จากวัสดุธรรมชาติ และการละเล่นพื้นบ้านต่างๆ ของไทยเรา มีคุณค่าควรสืบสานและอนุรักษ์ไว้ เพราะเราต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ของเล่นพื้นบ้านเหล่านี้ แทบจะเรียกว่าได้หายไปจากโลกแห่งของเล่นไปแล้ว เพราะด้วยยุคสมัยและกาลเวลาที่ผันผ่านไป ของเล่นพื้นบ้านเหล่านี้กลับกลายเป็นของเล่นโบราณที่ถูกหลงลืมไปแล้วจากสังคมไทย และนับวันก็ยิ่งจะหาของเล่นพื้นบ้านที่สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนรุ่นก่อนมาเล่นได้ยากเต็มที

ผู้เขียนจึงขอชื่นชมผู้ที่ส่งเสริม อนุรักษ์ของเล่นแบบไทย และผู้ที่เห็นคุณค่าของธรรมชาติ ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกท่านมีความสุข และอิ่มเอมใจกับการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ “การเล่นแบบไทยสุขใจกับธรรมชาติ” ในความระลึกอยู่เสมอว่า การพัฒนาเด็กเป็นปฐมบทของการพัฒนามนุษย์เป็นสำคัญและสัมพันธ์กับทุกก้าวย่างของชีวิต และมีผลต่อความเจริญมั่นคงของสังคมและประเทศชาติอย่างแท้จริง






บรรณานุกรม

ชีวิน วิสาสะ. (พฤษภาคม 2546). รักวัวให้ผูก รักลูกให้เล่น : กิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อ 
        ครอบครัว. กรุงเทพมหานคร :สำนักพิมพ์ แฮปปี้แฟมิลี่. 
นิรวรรณ. (พฤษภาคม 2533). เล่นอย่างไรให้สร้างสรรค์. ชุดจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก. 
        กรุงเทพมหานคร : บริษัท แปลน พับลิชชิ่ง จำกัด. 
นภเนตร ธรรมบวร. (2549). หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แห่ง 
        จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 
บุษบง ตันติวงศ์. (2550). รูปแบบการศึกษาปฐมวัยตามวิถีไทยเพื่อชีวิตที่พอเพียง. 
        กรุงเทพมหานคร. 
เอนก นาวิกมูล. (มีนาคม. พ.ศ. 2539). ของเล่นแสนรัก. สำนักพิมพ์โนรา. พิมพ์ครั้งที่ 1 
        กรุงเทพมหานคร 
แนวทางการนำมาตรฐานการศึกษาปฐมวัยสู่การปฏิบัติ. (กรกฎาคม 2550). สำนักพิมพ์วิชาการ :
       และมาตรฐานการศึกษา กรุงเทพมหานคร. 
การเล่นต่างๆ. http://www.heyha.th.gs/web-h/1022chamnong/mon.htm (27 มกราคม 2552)
ของเล่นพื้นบ้านไทย จินตนาการไม่รู้จบ. www.sarakadee.com/feature (27 มกราคม 2552)

แหล่งอ้างอิง นำมาจากเว็บ http://www.la-orutis.dusit.ac.th/research1.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น